อยากจ้างแรงงานต่างด้าวถูกกฎหมาย ทำใบต่างด้าวที่ไหนได้บ้าง?

Free Woman Jumping Wearing Green Backpack Stock Photo

การจ้างแรงงานต่างด้าวอย่างถูกกฎหมายถือเป็นเรื่องที่พึงกระทำของนายจ้างทุกคน เพื่อเป็นการคุ้มครองแรงงานที่เดินทางเข้ามาทำงานในประเทศไทย การให้สวัสดิการอย่างเหมาะสม รวมถึงปกป้องผลประโยชน์ของทั้งฝั่งนายจ้างและลูกจ้าง

 

ปัจจุบันการจ้างแรงงานต่างด้าวนั้นมีความสะดวกสบายมากยิ่งขึ้น โดยนายจ้างสามารถพาแรงงานต่างด้าวสั้ง 3 สัญชาติ ได้แก่ พม่า ลาวและกัมพูชาไปขึ้นทะเบียนแรงงานต่างด้าว เพื่อให้ได้ใบอนุญาตจ้างแรงงานต่างด้าวอย่างถูกต้อง โดยแบ่งออกเป็น 5 ประเภท ได้แก่

  • ใบอนุญาตเล่มสีน้ำเงิน (ตท.11)

สำหรับแรงงานกลุ่มช่างฝีมือหรือแรงงานนำเข้าแบบ MOU ที่ผ่านการตรวจสอบสัญชาติและข้อมูลส่วนบุคคลแล้ว

  • ใบอนุญาตแผ่นสีเหลือง (ตท.15)

สำหรับแรงงานที่ทำงานตามฤดูกาล สามารถเดินทางไปกลับระหว่างประเทศของตนเองกับแหล่งทำงานได้

  • ใบอนุญาตเล่มสีส้ม (ตท.11)

สำหรับแรงงานที่เกี่ยวกับการประมงและกลุ่มงานทางทะเล

  • ใบอนุญาตบัตร 3 สัญชาติ

สำหรับแรงงานที่จดทะเบียนตามมติ ครม. โดยแบ่งสีตามสัญชาติ ได้แก่ สีเขียว (เมียนมา) สีฟ้า(ลาว) สีน้ำตาล (กัมพูชา)

  • บัตรประจำตัว (บัตรสีชมพู)

สำหรับแรงงานที่จดทะเบียนในกิจการแปรรูปสัตว์น้ำและประมงทะเล

 

ทำใบอนุญาตจ้างแรงงานต่างด้าวได้ที่ไหนบ้าง?

นายจ้างสามารถพาแรงงานต่างด้าวไปขึ้นทะเบียนได้ทุกจังหวัด ขึ้นอยู่กับกรณีและความสะดวกของนายจ้าง ซึ่งสามารถแบ่งได้ออกเป็น 3 แห่งหลัก ดังนี้

 

  1. สำนักงานจัดหางานจังหวัด (สจจ.) หรือสำนักงานจัดหางานกรุงเทพมหานครพื้นที่ 1-10 (สจก.)
  • สำหรับแรงงานต่างด้าวที่มีเอกสารสำคัญครบ เช่น หนังสือเดินทาง (Passport) วีซ่า (Visa) แต่ใบอนุญาติทำงานหมดอายุ หากนายจ้างต้องการจ้างแรงงานต่างด้าวให้ถูกกฎหมายให้ไปต่ออายุใบอนุญาตที่ สจจ. หรือ สจก.
  • สำหรับจ้างแรงงานต่างด้าวแบบ MOU สามารถทำได้ 2 วิธี คือ นายจ้างเป็นผู้นำเข้าเอง หรือให้บริษัทเอกชนเป็นผู้ดำเนินการนำเข้า โดยให้นายจ้างยื่นขอโควตาที่ สจจ. หรือ สจก. ตามสถานประกอบการที่นายจ้างจัดตั้งขึ้น จากนั้นให้ยื่นขอหนังสือนำเข้า (Demand Letter) ส่งเอกสารถึงสถานทูตประเทศต้นทางในประเทศไทย

เพื่อให้ประเทศต้นทางจัดทำบัญชีรายชื่อ (Name List) แรงงานต่างด้าวจึงจะสามารถเดินทางเข้าประเทศไทยได้ เมื่อ ตม.ตรวจลงตรา (Visa) เสร็จแล้ว ให้นายจ้างพาคนงานไปเข้ารับการอบรมที่ศูนย์แรกรับเข้าทำงานและสิ้นสุดการจ้างตามจังหวัดที่กำหนด

  • สัญชาติเมียนมาไปที่จังหวัดตาก
  • สัญชาติกัมพูชาจังหวัดสระแก้ว
  • สัญชาติลาวไปที่จังหวัดหนองคาย

จากนั้นจึงเดินทางไปสถานประกอบการของนายจ้าง

 

  1. ศูนย์รับแจ้งการทำงานของคนต่างด้าวทั่วประเทศ

โดยจะมีศูนย์ทั้ง 76 จังหวัด และ ในกรุงเทพมหานครอีก 11 ศูนย์

  • กระทรวงแรงงาน ถ.มิตรไมตรี เขตดินแดง
  • IT Square หลักสี่พลาซ่า ถ.แจ้งวัฒนะ เขตหลักสี่
  • สถานีขนส่งสายใต้ ชั้น 2 ถ.บรมราชชนนี เขตตลิ่งชัน
  • ธัญญาปาร์ค ถ.ศรีนครินทร์ เขตสวนหลวง
  • ศูนย์กีฬาบางขุนเทียนเคหะชุมชนธนบุรี 3 ถ.พระราม 2 ซ.62 เขตบางขุนเทียน
  • สวนกีฬารามอินทรา ถ.รามอินทรา ซ.5 เขตบางเขน
  • กรมยุทธศึกษาทหารบก ใกล้สถานีรถไฟสามเสน ถ.นครชัยศรี เขตดุสิต
  • อาคารสโมสรวังนันทอุทยาน (กองทัพเรือ) ถ.อิสรภาพ เขตบางกอกน้อย
  • หอประชุมมหาวิทยาลัยกรุงเทพ-สุวรรณภูมิ ถ.ประชาพัฒนา เขตลาดกระบัง
  • สำเพ็ง 2 ปาร์ค (เฟส 3) ถนนกัลปพฤกษ์ เขตบางแค
  • กองความปลอดภัยแรงงาน ถ.บรมราชชนนี เขตตลิ่งชัน ตรงข้าม สน.ตลิ่งชัน

 

ในกรณีที่จ้างแรงงานต่างด้าวที่ไม่มีเอกสารใดๆ (แรงงานเถื่อน) ให้นำสำเนาบัตรประชาชนหรือหลักฐานการลงนามนิติบุคคล พร้อมทั้งรูปถ่ายหน้าตรง 2 นิ้วของแรงงานต่างด้าวจำนวน 3 รูปและกรอกแบบคำขอให้เรียบร้อย โดยเจ้าหน้าที่จะออกใบรับคำขอและนัดหมายพิสูจน์ความเป็นนายจ้างและลูกจ้าง จากนั้นจึงจะออกหนังสือรับรองให้ไปขอรับ CI และประทับตราการอยู่ในประเทศไทย ณ ศูนย์ศูนย์รับแจ้งการทำงานของคนต่างด้าวของประเทศต้นทางก่อน หลังจากนั้นให้นายจ้างพาลูกจ้างไปตรวจสุขภาพและทำประกันสุขภาพ แล้วจึงนำหลักฐานไปที่ สจจ.หรือ สจก. เพื่อขอรับใบอนุญาตทำงาน (WP)

 

  1. ระบบอนุญาตทำงานคนต่างด้าวอิเล็กทรอนิกส์ กรมจัดหางาน

สำหรับนายจ้างที่มีการจ้างแรงงานต่างด้าวและต้องการขึ้นทะเบียนแรงงานต่างด้าวอย่างถูกกฎหมายผ่านระบบออนไลน์ โดยนายจ้าง สถานประกอบการหรือบริษัทที่นำคนต่างด้าวมาทำงานในประเทศ ลงทะเบียนที่เว็บไซต์ https://e-workpermit.doe.go.th/ เพื่อแจ้งข้อมูลลูกจ้างแรงงานต่างด้าวต่อเจ้าหน้าที่ หลังจากนั้นให้นายจ้างพาลูกจ้างแรงงานต่างด้าวไปจัดเก็บข้อมูลอัตลักษณ์บุคคลและตรวจสุขภาพที่ ตม. พร้อมจัดทำหรือปรับปรุงทะเบียนประวัติให้เรียบร้อย

 

การขึ้นทะเบียนจ้างจ้างแรงงานต่างด้าวนั้นสามารถทำได้ง่ายและสะดวกสบาย โดยสามารถทำได้ทุกจังหวัดทั่วประเทศและผ่านระบบออนไลน์ อีกทั้งยังมีบริษัทเอกชนอีกหลากหลายแห่งที่รับบริการพาลูกจ้างแรงงานต่างด้าวไปขึ้นทะเบียนตามกฎหมาย หากนายจ้างที่อยากจ้างแรงงานต่างด้าวแต่กังวลเรื่องค่าใช้จ่ายหรือค่าธรรมเนียมต่างๆ สามารถทำสินเชื่อส่วนบุคคลกับ Rabbit Care เพื่อนำเงินสดมาสำรองจ่ายได้ ให้สามารถประกอบธุรกิจได้อย่างถูกต้อง อีกทั้งยังและป้องกันการหลบหนีหรือการก่ออาชญากรรมได้อีกด้วย